จากการที่สภามหาวิทยาลัยมีมติไม่ให้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย แต่ให้ตั้งในรูปของ "คณะกรรมการกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานบัณฑิตศึกษา" แทน ในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๙ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๙ แล้วนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้พิจารณาทบทวนเรื่องการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง ได้ข้อสรุปว่า ยังสมควรที่จะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานในระดับคณะที่เรียกว่า "บัณฑิตวิทยาลัย" ขึ้นมาเพื่อบริหารและจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑. สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันพบว่า ศักยภาพของแต่ละคณะที่เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เช่น สาขาบริหารการศึกษา สาขาหลักสูตรและการสอน และรัฐประศาสนศาสตร์ และหลักสูตรในลักษณะบูรณาการ ยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้โดยคณะใดคณะหนึ่ง แต่ถ้านำศักยภาพมารวมไว้ในหน่วยงานหนึ่ง (ไม่ได้นำอาจารย์มารวมไว้ อาจารย์ยังคงสังกัดคณะเดิม) จะทำให้มีความแกร่งในศักยภาพเพื่อการจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี
๒. ศักยภาพของอาจารย์ที่ทำการบริหารและจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีของแต่ละคณะมีขีดจำกัดทำให้ไม่สามารถพัฒนาการจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีให้เกิดประสิทธิภาพได้ การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีเป็นการเฉพาะจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย
๓. เพื่อให้มีหน่วยงานที่สามารถดูแลและกำกับด้านมาตรฐานการจัดการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีอย่างเป็นระบบ สามารถบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างเป็นเอกภาพ
จากเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงขอเสนอ (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี ว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ...เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย เพื่อการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
๑. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พุทธศักราช ๒๕๔๗